Sunday, 1 April 2007

คำแปลบทสวดเจ็ดตำนาน: ๓. กรณียเมตตสูตร

๓. กรณียเมตตสูตร ป้องกันเทวดาภัยด้วยการเจริญเมตตาอัปมัญญา แผ่เมตตาไปทั่วทั้งโลก

๑. กุลบุตรผู้ฉลาด พึงกระทำกิจที่พระอริยเจ้าผู้บรรลุแล้วซึ่งพระนิพพานอันเป็นที่สงบระงับได้กระทำแล้ว
กุลบุตรนั้นพึงเป็นผู้องอาจ ซื่อตรงและประพฤติตรงดี เป็นผู้ที่ว่าง่ายสอนง่าย อ่อนโยน ไม่มีมานะอันยิ่ง
เป็นผู้สันโดษยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่ เป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นผู้มีกิจธุระน้อย เป็นผู้ประพฤติทำให้กายและจิตเบา
มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันสงบนิ่ง มีปัญญาฆ่ากิเลส เป็นผู้ไม่คะนองกาย วาจา ใจ
และไม่พัวพันในสกุลทั้งหลาย ไม่พึงกระทำกรรมที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายติเตียนผู้อื่นว่าทำแล้วไม่ดี
พึงแผ่เมตตาจิตว่า ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้มีสุข มีจิตเกาะ พระนิพพานแดนอันพ้นจากภัย
ทั้งหลาย และจงเป็นผู้ทำตนให้ถึงความสุขทุกเมื่อเถิด

ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดโดยไม่มีเหลือ ทั้งที่มีตัณหาเครื่องทำใจให้สะดุ้งอยู่ และผู้มั่นคงคือไม่มี
ตัณหาแล้ว ทั้งที่มีกายยาว ใหญ่ ปานกลาง หรือกายสั้น หรือผอม อ้วน เป็นผู้ที่เราเห็นแล้วก็ดี
ไม่ได้เห็นก็ดี อยู่ในที่ไกลหรือในที่ไม่ไกล ทั้งที่เกิดมาในโลกนี้แล้ว และที่ยังกำลังแสวงหาภพอยู่ก็ดี
จงเป็นผู้ทำตนให้ถึงความสุขเถิด สัตว์อื่นอย่าพึงอย่าพึงรังแกข่มเหงสัตว์อื่น
อย่าพึงดูหมิ่นใครในที่ใดๆ เลย ไม่ควรปรารถนาให้กันและกันมีความทุกข์ เพราะความกริ้วโกรธ
และเพราะความเคียดแค้นกันเลย มารดาย่อมตามรักษาบุตรคนเดียวผู้เกิดในตน ด้วยชีวิต ฉันใด
กุลบุตรพึงเจริญเมตตาจิตในใจไม่มีประมาณ ในสัตว์ทั้งปวงทั้งหลายแม้ฉันนั้น

๒. บุคคลพึงเจริญเมตตาให้มีในใจไม่มีประมาณ ไปในโลกทั้งสิ้น ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง การเจริญ
เมตตาจิตนี้เป็นธรรมอันไม่แคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ผู้เจริญเมตตาจิตนั้น จะยืนอยู่ก็ดี เดินไปก็ดี นั่งอยู่ก็ดี
นอนอยู่ก็ดี เป็นผู้ปราศจากความง่วงเพียงใด ก็สามารถตั้งสติไว้ได้เพียงนั้น
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงกิริยาอย่างนี้ว่า เป็นการเจริญพรหมวิหารในศาสนานี้
บุคคลผู้ที่มีเมตตา ไม่เข้าถึงความเห็นผิด เป็นผู้มีศีลถึงพร้อมแล้วด้วยความเห็นคือปัญญา นำความ
หมกมุ่นในกามทั้งหลายออกได้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงความเข้าไปนอนในครรภ์เพื่อเกิดอีกโดยแท้แล ฯ

No comments: